ตั้งหลักออนไลน์มาอัพเดทข้อมูลน่าสนใจครับ เพราะเวลานี้ ไทยกำลังขึ้นแท่นเป็นประเทศที่จีนเข้ามาเริ่มต้นลงทุนมากที่สุดในโลก จากในปี 2017-2018 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ในบรรดาประเทศทั่วโลก ประเทศที่เข้ามาลงทุนและมีดีลทางธุรกิจร่วมกับหน่วยงานและภาคเอกชนในประเทศไทยมากที่สุด ก็คือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งยังคงครองอันดับหนึ่งมาตลอดกว่า 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
แต่ในเวลานี้ยุคสมัยกำลังเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะในปี 2017-2018 ที่ผ่านมา “ประเทศจีน” กลายเป็นประเทศที่มาแรงที่สุดสำหรับประเทศคู่ค้าที่เริ่มต้นลงทุนในประเทศไทย
อ้างอิงจากรายงานผลสรุปตัวเลขการลงทุนในต่างประเทศของจีน ในปี 2017-2018 พบว่า ไทยขึ้นแท่นอันดับหนึ่ง เป็นประเทศที่จีนเข้ามาลงทุนและเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ด้วยมากที่สุดในเวลานี้ และมีแนวโน้มที่จะครองอันดับหนึ่งต่อไปด้วย
แม้ว่าที่จริงแล้ว ประเทศจีนมีอัตราการลงทุนในต่างแดนทั่วโลกลดลงจากปีก่อนที่ประมาณ 29% ซึ่งสืบเนื่องมาจากนโยบายการจำกัดและห้ามการลงทุนในต่างแดนที่ทางการจีนเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา หลังจากนักลงทุนในจีนได้ออกไปลงทุนในกิจการที่ต่างแดน แล้วพบว่าในบางกลุ่มธุรกิจ เป็นผลประโยชน์ของนักลงทุน โดยที่กิจการไม่สามารถส่งเสริมกิจการในประเทศจีนเองได้มากพอ ตัวอย่างเช่น สโมสรฟุตบอลในยุโรป เป็นต้น
แต่สำหรับประเทศไทย มีรายงานว่า ภาคธุรกิจของจีนให้ความสำคัญในฐานะที่ไทยเป็น Hub ของอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสำหรับโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative หรือ BRI) และมีแนวโน้มว่าจะมีการเพิ่มการลงทุนในอนาคตด้วย
สำหรับทิศทางของการลงทุนในปัจจุบันนั้น จีนได้ให้ความสำคัญกับด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนองต่อความต้องการและการยกระดับฐานะของผู้คนในประเทศ รวมถึงยุทธศาสตร์ที่ใช้ช่องทางธุรกิจออนไลน์อีคอมเมิร์ซเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจออนไลน์เกี่ยวกับค้าปลีกและธุรกิจออนไลน์ท้องถิ่น โดยเฉพาะการร่วมมือจากเครือ Alibaba ของแจ็คหม่า ที่ถือว่าเป็นหัวหอกสำคัญ รวมถึงบริษัท Tencent ผู้พัฒนา WeChat และเป็นผู้นำสำคัญของนวัตกรรมเทคโนโลยีในจีน รวมถึงบริษัท Baidu ซึ่งทั้งหมดถูกเรียกรวมว่า BAT ในฐานะของบริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีหัวหอกหลักของจีน
อย่างไรก็ตาม มีโครงการใหญ่ที่จีนได้พยายามจะเข้ามาร่วมกับไทยมากที่สุดก็คือการลงทุนด้านอสังหาฯและภาคการเกษตรในภาคตะวันออกของไทย โดยคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
อาจมีคำถามว่า มีความกังวลบ้างหรือไม่ เนื่องจากหลายภาคส่วนก็มีความกังวลว่า การที่จีนเข้ามาลงทุนในภาคตะวันออกของไทย โดยเฉพาะการลงนามร่วม MOU กว่า 10 ฉบับ และการผลักดันการลงทุน EEC โครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย (Eastern Economic Corridor : EEC) อาจจะนำไปสู่การเปรียบประโยชน์ในอนาคตหรือไม่ แต่ขณะเดียวกันทางรัฐบาลและภาคเอกชนของไทยก็เล็งที่จะดึงทุนจีนกว่า 400 บริษัทเข้ามาลงทุนเพิ่ม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างงานและรายได้ต่อไป
ทั้งนี้ โครงการ EEC ยังมุ่งส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมใหญ่ที่ภาคเอกชนจีนมีความถนัด ซึ่งก็น่าจะผลักดันให้ภาคเอกชนของจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นไปด้วย โดยในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมดังกล่าว ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนและมีการดำเนินการแล้วในปัจจุบัน (First S-curve) และ 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve)
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม First S-curve ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (next generation automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (smart electronics) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กลุ่มที่สร้างรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (affluent, medical and wellness tourism) อุตสาหกรรมการเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (agriculture and biotechnology) และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (food for the future)
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (robotics and automation) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (aviation and logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (biofuels and biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิทัล (digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (medical hub)
สุดท้ายแล้ว โครงการดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยภายใต้แนวทางไทยแลนด์ 4.0 ได้แค่ไหน และจะเป็นผลกระทบในเชิงบวกหรือลบกว่านี้หรือไม่ ทางตั้งหลักออนไลน์จะนำมาอัพเดทต่อไปครับ
