เมื่อธุรกิจออนไลน์ และ อีคอมเมิร์ซ ยังไงก็ต้องมา ในไทยเติบโตมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท
มีคำถามหนึ่งที่ทีมงาน ตั้งหลักออนไลน์ ได้รับมาบ่อยมากก็คือ
“ยุคนี้ขายของออนไลน์ยังไปรอดไหม”
“จะเริ่มตั้งหลักขายของออนไลน์ยังไงดี” (สมกับชื่อทีมงานเราเลย)
“ธุรกิจออนไลน์อีคอมเมิร์ซจะโตได้ไหม”
คำถามเหล่านี้เป็นเรื่องปกติครับ เพราะในช่วงหลังมานี้เราจะได้ยินคนพูดถึงกันมากขึ้นว่า “เราต้องเปิดขายของออนไลน์ หรือ ถ้ามีธุรกิจออนไลน์ก็ต้องขยายช่องทางมาทำอีคอมเมิร์ซเพิ่มเติม”
หรือเรียกง่าย ๆ ว่าควรต้องเปิดหน้าร้านค้าบนโลกออนไลน์เพิ่ม เพราะเวลานี้ต้องยอมรับว่าเราจะขายของหรือบริการของเราแค่หน้าร้านทั่วไปแบบออฟไลน์ มันอาจจะไม่เพียงพอแล้วก็เป็นได้
แต่ถามว่า มันจะรุ่งได้จริงหรือไม่ เพราะหลายคนที่เริ่มเข้ามาจับธุรกิจออนไลน์ตรงนี้ก็อาจจะพบว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด อีกทั้งยังมีการแข่งขันที่รุนแรงด้วย
ก่อนจะกังวล เรามีข้อมูลและสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทย และแนวโน้มในการเติบโตตรงนี้มาให้พิจารณากันครับ แล้วท่านอาจจะพบว่า ถึงเราไม่ทำ คนอื่นเขาก็ทำ แล้วยังไงอีคอมเมิร์ซก็ต้องมาอยู่ดีครับ
ธุรกิจออนไลน์ และ อีคอมเมิร์ซในไทย ยังคงเติบโต
มีรายงานจาก Statita ที่สำรวจว่า จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 ในประเทศไทย ธุรกิจออนไลน์ หรือ ธุรกิจออนไลน์อีคอมเมิร์ซมีมูลค่าทั้งสิ้นราว 3,757 ล้านเหรียญสหรัฐ
และคาดว่าภายในปี 2018-2023 จะมีการเติบโตขึ้นอีกราว 11.2%
รายงานยังบ่งชี้อีกว่า ภายในสิ้นปี 2023 ธุรกิจออนไลน์ในไทยจะมีมูลค่าไปแตะอยู่ที่ 6,384 ล้านเหรียญ
แล้วยังมีการคาดการณ์ว่า ประเภทของธุรกิจออนไลน์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดและการเติบโตมากที่สุด คือกลุ่มสื่อบันเทิง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะมีมูลค่ากว่า 1,043 ล้านเหรียญสหรัฐ
มีการวิเคราะห์ว่า ปัจจัยหนึ่งมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่มีการเปลี่ยนไปเสพข้อมูลข่าวสาร และ Content ต่าง ๆ บนช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียแทน รวมถึงการเลือกซื้อสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ก็มีการใช้จ่ายผ่านทางออนไลน์มากขึ้น
ส่วนอันดับอื่น ๆ ก็ตามมาด้วยกลุ่มเครื่องสำอาง อาหาร ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ สกินแคร์ เสื้อผ้า แฟชั่น และ สินค้าประเภทไลพ์สไตล์
คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 82% จากทั้งประเทศ
มีรายงานจาก wearesocial ระบุว่าประชากรไทยกว่า 69 ล้านคน มีสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 57 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองมากกว่า 53% หรือประมาณ 82% ของประชากรทั้งหมด
สำหรับผู้ใช้งาน Active บนแอพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียต่าง ๆ นั้น เวลานี้มีอยู่ที่ประมาณ 51 ล้านคน หรือคิดเป็น 74% ของประชากรทั้งหมด
อ้างอิงจาก wearesocial/digital-in-2018
เมื่อชีวิตประจำวันกำลังอยู่บนมือถือ
มีข้อมูลที่ระบุว่า จำนวนผู้ใช้งานบนมือถือของไทยในเวลานี้ สูงกว่า 55.56 ล้านคน หรือคิดเป็น 80% ของประชากรทั้งหมด
สำหรับผู้ใช้งาน Active ของโซเชียลมีเดียผ่านทางมือถือ สูงถึง 46 ล้านคน คิดเป็น 67% ของประชากรทั้งหมด
หลายสำนักวิเคราะห์ว่า มีสองปัจจัยที่เกื้อหนุน คือ คนไทยมีพฤติกรรมในการใช้งานโซเชียลมีเดียที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการใช้งานบนมือถือมากที่สุด และเริ่มมีความมั่นใจการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำธุรกรรมทางออนไลน์กับสถาบันทางการเงินมากขึ้นด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารและสถาบันการเงินเองที่ปรับตัวมาใช้ระบบทางออนไลน์เพิ่มขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ยังรวมถึงร้านค้าต่าง ๆ ที่พยายามดันระบบการขายและการจ่ายเงินให้เข้ามาอยู่ในเว็บไซต์และหน้าแพลตฟอร์มของตัวเองมากขึ้น ซึ่งก็สามารถดาวโหลดมาใช้งานบนมือถือได้อย่างง่าย ๆ ด้วย
ดังนั้น ไม่ใช่ว่าเราต้องปรับตัวเข้ากับธุรกิจออนไลน์หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แต่สถานการณ์มันกลับกันเลยครับ เพราะไม่ว่าอย่างไร ต่อไปนี้อีคอมเมิร์ซก็จะต้องเข้ามาหาชีวิตประจำวันของคนไทยอยู่ดีครับ